top of page
  • Writer's pictureNum | Sahathust

กูเกิลไม่อนุญาตให้เด็กต่ำกว่า 13 ปีเล่น Youtube

ปัจจุบันแทบจะเป็นเรื่องปกติที่เห็น เด็กเล็กๆ อายุน้อยๆ นั่งจ้องอยู่หน้า Youtube หรือ บนเว็บไซต์ยูทูป เพื่อดูรายการที่ตัวเองโปรดปราน ในมุมมองของผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ข้างๆ อาจจะเห็นประโยชน์ของการที่อนุญาตให้เด็กน้อยเหล่านั้นดู ผู้ใหญ่จะได้มีเวลาทำงานอย่างอื่น เด็กๆได้นั่งเงียบๆไม่ส่งเสียงวุ่นวาย หรือไม่แม้แต่จะสนใจ เด็กได้เรียนรู้ เห็นว่าเด็กน่าจะฉลาดขึ้น เพราะได้ใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น (มีความคิดที่มองว่าเริ่มก่อนมักจะดีกว่าเสมอ) แต่รู้กันมั้ยครับ ว่าในมุมของเด็กน้อยที่เขายังไม่ประสีประสา พวกเขาเรียนรู้โลกใบนี้จากอะไร การเรียนรู้ของพวกเขา จะแตกต่างจากผู้ใหญ่เรามาก


กูเกิลไม่แนะนำให้เด็กเล่น Youtube | Noonnum.com

การเรียนรู้โลกของเด็กในวัยเล็กไม่เกิน 7 ขวบนั้น เขาใช้ระบบประสาททั้งร่างในการเรียนรู้ (Sensory) การมอง การฟัง การได้ยิน การสัมผัส การรับกลิ่น การรับรส ใช้ร่างทั้งร่างกายเพื่อสัมผัสประสบการณ์ต่อโลกใบนี้ตรงๆ การเห็นแมวตัวหนึ่ง เข้ามาคลอเคลียลูบไล้ใกล้ๆตัวเด็กน้อย เขาได้เห็นมัน เขาได้รู้สึกมัน เขาได้กลิ่นมัน เขาได้ยินมัน เขาได้สัมผัสอารมณ์ของมัน ซึ่งแตกต่างจากการได้เห็นคลิปวีดีโอแมวน่ารักตัวหนึ่ง การเรียนรู้ของเขานั้นต่างกันอย่างมาก


เด็กน้อยเรียนรู้โลกใบนี้จากการเคลื่อนไหว(Movement) การวิ่ง การกระโดด การกลิ้งตัว การคลานเข่า การเดิน การเหยียบทราย ดิน หญ้า ด้วยเท้าเปล่า การหกล้ม การที่ผู้ใหญ่สักคนอยู่ใกล้ๆให้กำลังใจ ถ้าเขาหกล้ม เด็กวิ่งมาหาเราให้เราปลอบโยน ทำแผลเล็กน้อยให้ และให้กำลังใจเขา ให้ไปเล่นต่อได้ เด็กจะเกิดความวางใจต่อโลกใบนี้ โลกที่เขาจะต้องโตไป เขาได้เรียนรู้ว่า ล้มแค่นี้เองไปต่อได้ แต่การเรียนรู้ผ่านหน้าจอนั้น เขาเห็นตัวอย่างของความน่ากลัวอย่างมาก ผ่านข่าวรายวัน(ผู้ใหญ่เรายังกลัวเลย) และผ่านเรื่องราวที่ถูกปรุงแต่งให้เพิ่มความน่ากลัวขึ้นไปอีก แล้วข้อมูลน่ากลัวบนโลกนี้ผ่านหน้าจอเพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ใหญ่ ส่งผลกับมุมมองต่อโลกของเด็กขนาดไหน ความน่ากลัวนี้ ทำให้เด็กบางคนมองโลกภายนอกนั้นน่ากลัวเกินไป ทำให้พวกเขา กลับเข้าไปสู่โลกภายในตัวเอง ไม่สามารถสื่อสารต่อโลกข้างนอกได้ บางคนกลายเป็น โรคออทิสติก(เทียม) ที่เราเห็นเด็กน้อยในยุคนี้เป็นกันมาก


เด็กน้อยเรียนรู้โลกนี้ จากการเลียนแบบสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวพวกเขา (Imitation) เขาไม่ได้เลียนแบบพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว พวกเขายังเลียนแบบอารมณ์อีกด้วย เคยลองสังเกตมั้ยครับ วันไหนที่พ่อแม่หรือ ผู้ใหญ่หงุดหงิด เด็กๆเหล่านั้นเขาก็มีอารมณ์แบบเดียวกับพวกผู้ใหญ่เลย บางครั้ง ผมมักจะชอบใช้เท้าปิดพัดลม ลูกผมก็เลียนแบบโดยใช้เท้าปิดเหมือนกัน ผมเคยอยากจะว่าเขาแต่ตัวเองยังทำอยู่เลยพูดไม่ออก ดังนั้นเวลาที่เด็กได้ดูสื่อต่างๆที่เขาเห็นใน Youtube ไม่ว่าจะดีหรือไม่เขาเลียนแบบทุกอย่าง เหมือนฟองน้ำเปล่าๆที่สามารถซึมทั้งน้ำที่ดีหรือน้ำที่ไม่ดีเข้ามาหมด เด็กน้อยไม่ได้มีมุมมองของผู้ใหญ่ ว่านี้คือ หนังหรือเรื่องที่ถูกสร้างขึ้น แต่สำหรับเขาคือ นี้คือความจริงทั้งหมด ถึงแม้ว่าเราจะบอกเขาว่ามันไม่จริง ปากเขาบอกว่าไม่จริง แต่ข้างในเขาเชื่อมันไปแล้ว ยิ่งเป็นเด็กวัยเล็ก ยิ่งประทับอยู่ข้างในลึกมาก


กูเกิลได้ถูกตำหนิจาก องค์กรเพื่อเด็กหลายๆแห่งทั่วโลก ว่ากูเกิลควรแสดงความรับผิดชอบต่อ การบริการบน Youtube ที่เปิดโอกาสให้ ธุรกิจเข้ามาเก็บข้อมูลเด็กๆจากทั่วโลก และยิงโฆษณาไปยังลูกค้าวัยใสเหล่านี้ มีหลายธุรกิจพยายาม เรียกลูกค้าวัยใส่เหล่านี้ว่ากลุ่ม VIP เนื่องจาก ทุกครั้งเด็กกลุ่มนี้ต้องการอะไร พ่อแม่ของพวกเขาจำเป็นต้องหามาให้ลูกให้ได้ เมื่อเด็กคนหนึ่งมี เด็กคนนี้ก็จะเป็น ตัวแนะนำที่ดีต่อเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องมีตาม เกิดความต้องการต่อเนื่องต่อของขิ้นนั้นๆ


หลังจากนั้นก็มีกฏหมายเข้ามาปกป้องข้อมูลของเด็กเหล่านี้ (Child Online Privacy Protection Act) กูเกิลทำอย่างไร ที่จะหาทางรับผิดชอบ บริษัทกูเกิลจึงหาทางออกด้วย บริการล่าสุด นั้นคือ Youtube for kid ออกมาต้นปี 2015 เมื่อสามปีที่แล้ว กูเกิลให้ข้อมูลว่า เด็กๆทุกคนไม่ควรใช้ Original Youtube แต่ควรใช้ Youtube for Kids แทน Youtube for Kids นี้ได้มีการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกมากที่สุด และมั่นใจได้เลยว่า จะไม่มีการเก็บข้อมูลของเด็กๆเหล่านี้ แต่ข้อจำกัดของ บริการนี้ เด็กๆต้องเล่นบนมือถือ หรืออุปกรณ์พกพาเท่านั้น ไม่มีเว็บไซต์หรือแอพที่เชื่อมต่อกับทีวีได้


ภาพโฆษณาที่นำข้อมูลของเด็กไปใช้ ภาพจาก TechHive | Noonnum.com
โฆษณาแฝงที่นำข้อมูลของเด็กไปใช้ เครดิตภาพจาก TechHive

ปัจจุบัน Youtube Kids เพิ่งปรับรายการออกมาเป็นช่วงวัยของเด็กได้แก่ 1.เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ หรือ "Pre-School" (กลุ่มนี้ไม่ควรให้ใช้อย่างยิ่ง) 2.กลุ่มเด็กอายุ 5-7 ขวบ หรือ "Younger"(วัยนี้ควรไปวิ่งเล่นกับเพื่อนและผู้ปกครอง) 3. กลุ่ม 8-12 ขวบ หรือกลุ่ม Older (กลุ่มเด็กประถมควรเน้นการปฎิบัติให้มากและสัมผัสของจริงเยอะๆ) ก่อนหน้า Youtube แบ่งกลุ่มเด็กๆออกมาแค่สองกลุ่มคือ 0-8ขวบ และ 9-12 ขวบเท่านั้น ทำให้เนื้อหาไม่เหมาะสมต่อช่วงวัยเป็นอย่างมาก


เราเห็นทางแก้ปัญหาของกูเกิลแล้ว นั้นก็คือ การแบ่งลูกค้าออกเป็นส่วนๆตามเนื้อหา และให้ทุกกลุ่มสัมผัสคำว่า “Youtube”อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จดจำภาพแบรนด์ได้ เนื้อหาในนั้นก็ค่อนข้างมาจากหลายธุรกิจที่สร้างคอนเทนต์ให้เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นเลยว่า ถึงแม้ระบบจะไม่เก็บข้อมูลของเด็กๆ แต่เด็กที่ได้เสพตัวละคนเหล่านั้น ก็จะมีสิทธ์เป็นว่าที่ลูกค้าของพวกธุรกิจต่างๆในอนาคต อย่างของเล่นที่เด็กจำได้ ก็มีโอกาสให้พ่อแม่ซื้อให้มากกว่าตัวอื่นๆ


แล้วทางแก้ปัญหาของเรา ผู้ใหญ่ทุกคน พ่อแม่ หรือ ว่าที่หัวหน้าที่จะได้ร่วมงานกับกลุ่มเด็กๆเหล่านี้ในอนาคต เราควรให้พวกเขาได้เรียนรู้ ด้วยวิธีไหนกันแน่ เรียนรู้จากการลงมือทำ หรือเรียนรู้ผ่านคอนเทนต์จากทางหน้าจอ

ทีมหนุนนำขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ พยายามหากระดาษว่างๆ เขียนคำโตๆว่า "เล่นกับลูก" แล้วติดที่หน้ากระจก เพื่อให้เตือนตัวเอง แล้วออกไปเล่นกับเด็กๆ กันครับ

15 views0 comments
bottom of page