เราทำงานหนักเกินไป แล้วชีวิตส่วนตัวมีปัญหาบ้างมั้ยครับ? วันนี้แอดมินจะมาชวนคุยเรื่องเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนที่สุด นั้นก็คือการทำงาน และ การใช้ชีวิตของแต่ละคน เราเคยลองหยุดถามตัวเองบ้างมั้ยว่า เราต้องการอะไรในชีวิต การประสบความสำเร็จนั้นทำให้คุณมีความสุขมั้ยครับ หรือ ความสุขนั้นเท่ากับจำนวนเงินที่เราหาได้หรือไม่? อะไรคือสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ
ในชีวิตของผมนั้น ต้องบอกความจริงว่า ผมมักจะปล่อยมันให้ไหลไปตามเวลา ไม่ติดยึดหรือคาดหวัง และคิดว่าทุกอย่างมันจะดีของมันเอง ไม่เคยวางแผน ไม่เคยออกแบบ เรียนจบในสิ่งที่ครอบครัวอยากให้เรียน สังคมบอกว่าดี ทำงานที่คนอื่นคิดว่าดี ทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่เคยหยุดถามตัวเองเลยว่า อยากจะทำอะไรในชีวิต
จังหวะดีที่ผมไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งเข้า Designing Your Life ผู้เขียนคือ Bill Burnett และ Dave Evans สองศาสตราจารย์ ที่ Designing School ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เป็นหนังสือที่เหมาะมากๆกับผมในตอนนั้น ที่พยายามจะหาทางออกของ Work Life Balance หรือพยายามจะวางแผนชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุลกันไปด้วยกันได้ จังหวะที่ดีกว่านั้นคือ อาจารย์ Bill Burnet ได้บินมาที่เมืองไทย และได้มาทำ Workshop ช่วยให้คนไทยได้ลอง ออกแบบชีวิตตัวเองได้ ผมก็ไม่พลาดโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆแต่ก็ได้เข็มทิศหลายๆอย่าง พอจะมาแบ่งปันกันครับ
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดนั้นก็คือ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเรา อะไรที่โลกในอนาคตต้องการ และอะไรที่เราต้องการที่จะทำจริงๆ สิ่งที่พอจะช่วยคบคิดกับคำถามง่ายๆ แต่ตอบได้ยากนั้นก็คือ การปรับแนวคิดหรือเปลี่ยนกรอบคิดวิธีคิดใหม่ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ
แนวคิดแรกนั้นคือ พยายามเชื่อมต่อส่วนต่างๆของชีวิตเข้าด้วยกัน เชื่อมแนวคิดในการใช้ชีวิตของเรา - สิ่งที่เราอยากจะทำหรือทำอยู่ - และสิ่งที่เราเป็น(เราเป็นคนอย่างไร) พยายามหาทางเขียนมันออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หาเวลานิ่งๆเงียบ มองลงไปในรายละเอียดและบรรยายออกมาครับ
แนวคิดที่สอง คือ เราไม่ได้มีแค่ชีวิตเดียว เรามีโอกาสที่จะมีหลายชีวิตได้ ตัวเราเองมีส่วนที่ดีที่สุด อยู่หลายด้านครับ ลองพยายามคิดอย่างนี้ดูครับ คิดว่าชีวิตเรามี 3 เวอร์ชั่น หรือ 3 Plan อย่างแรกคือ ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันงานที่เราทำอยู่ ชีวิตที่สองคือสิ่งที่เราสามารถลองทำเพิ่มได้ ชีวิตที่สามคือ ชีวิตที่เราอยากจะทำมันจริงๆ (ชีวิตที่สามนี้ถ้าไปเล่าให้ใครฟังอาจจะมีคนหัวเราะได้เช่น อยากไปช่วยชีวิตเพนกวินที่เกาะล้างขั้วโลกใต้) พยายามเริ่มใจ เปิดโอกาสให้ตัวเองทำความรู้จักคนใหม่ๆ เพื่อคุยกับเขา ถามถึงชีวิตคนอื่นๆ ในมุมมองของเขาบ้างจะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น วางแผนระยะยาวให้ตัวเองสัก 3-5 ปี วาดเป็นภาพดูก็ได้นะครับ ดูจากแผนภาพด้านล่างได้ แล้วทำเป็นแผนย่อยลงไป เป็นรายปี รายเดือน และรายสัปดาห์ เอาหล่ะถ้าเรามีแผนแล้วไงต่อ
แนวคิดที่สาม ลองทำมันดูเลยครับ(Prototype) แต่ให้ทำแบบเล็กๆก่อนนะครับ สิ่งจำเป็นในช่วงแรกนั้นก็คือ การตั้งเป้าให้เล็กครับ เล็กมากๆ แต่พยายามทำอย่างต่อเนื่อง 4-5 วันต่ออาทิตย์เป็นอย่างน้อยครับ ยกตัวอย่าง อยากจะลองทำงานสายโปรแกรมเมอร์ดู เลยตั้งใจว่าจะเรียนรู้การเขียนโปรแกรม ช่วงแรกอาจจะลองเรียนประมาณ 30 นาทีต่อวัน ทำให้ได้ต่อเนื่องก่อนเป็นต้นครับ ขั้นตอนการสร้าง หรือทดลองนี้ เราจะได้ประสบการณ์จากการพูดคุย และการลงมือทำ จังหวะนี้เน้นให้เราพยายามจดบันทึก สิ่งที่ทำบ่อยๆ ว่าเราเป็นอย่างไรตอนทำมัน รู้สึกอย่างไรบ้าง เกิดช่วงเวลา Flow (ช่วงที่เวลามักจะผ่านไปเร็ว) และเราจะค้นพบสิ่งที่เราต้องการทำหรือ ค้นเจอ Passion ของเรานั้นเอง “การหา Passion ไม่ได้มีตั้งแต่แรก ต้องสร้างมันจากการลงมือทำครับ”
แนวคิดที่สี่ ชีวิตนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องซับซ้อน และมีหลายมิติ ดังนั้นเราจำเป็นต้อง เซ็ทกรอบของ Work Life Balance ใหม่ โมเดลที่ Design Thinking แนะนำก็คือความสุขในชีวิต มาจาก การมีสุขภาพที่ดี(Health) ความสนุกที่ช่วยให้เราเบิกบานใจ(Play) การทำงานที่มีคุณค่าต่อตัวเรา(Work) และความรัก กำลังใจจากคนรอบข้างในชีวิต(Love) จึงออกมาเป็นโมเดล Dashboard ที่เราสามารถประเมินกันได้ลองทำกันดูครับ
ผมขออธิบายชีวิตส่วนตัว(แบบแอบเขินๆ)ดังนี้ครับ
ผมมีภรรยาและลูกสาววัย 5 ขวบที่น่ารัก ผมทำงานกิจการส่วนตัวอยู่ที่ต่างจังหวัด 4 วัน กลับมาที่กรุงเทพเพื่ออยู่กับครอบครัว 3 วันครับ ผมได้อยู่เล่นกับลูก โดยดำรงอยู่กับเขาจริง ดูแลเขา และให้ความรัก พาเล่น เล่านิทาน ไม่ใช่มือถือ ในช่วงที่ผมอยู่กับครอบครัว เรามักจะไปทานไอศครีม และนั่งทานข้าวด้วยกันทั้งช่วงเช้าและเย็น ส่วนภรรยานั้น ผมจะเตรียมเวลาเพ่ือนั่งฟัง-นั่งคุยกันสักหนึ่งชั่วโมง รับฟังถึงปัญหาที่เจอ มุมมอง ความคิดเห็นที่อยู่ในใจ ให้กำลังใจกัน อัพเดตกันตลอด และช่วงที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันผมจะใช้การโทรไปคุยสั้นๆ ผมมีเวลาให้พ่อแม่ หนึ่งวันต่อสัปดาห์ โดยการไปเยี่ยมท่านที่บ้าน และนั่งทานข้าวกับท่าน ถ้าไม่มีจังหวะก็จะใช้โทรศัพท์คุยกันนิดหน่อย สิ่งที่อยากจะทำเพิ่มนั้นคือ นัดเจอพวกพี่น้องให้มากกว่านี้ และคุยกันให้มากกว่านี้ ผมเลยให้คะแนนด้านความรัก(Love)เกือบเต็ม
ส่วนชีวิตการทำงาน ผมให้เกินครึ่งมาหน่อย ผมทำงานเป็นผู้บริหารของกิจการตัวเอง ดูแลน้องๆทีมงาน ลูกค้า และคู่ค้า และกำลังทดลองทำงานใหม่ๆ เพิ่มอย่างงานหนุนนำก็ถือว่า สนุกและมีความหมายมากๆ มีงานออกไปเล่าเรื่อง ไปบรรยาย ให้น้องๆรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบตามโรงเรียนต่างๆ ในเรื่องการเตรียมตัวสำหรับงาน ในอนาคต เลยได้คะแนนในช่องชีวิตการทำงาน (Work) ประมาณนี้ครับ
ผมเริ่มออกวิ่ง และนั่งสมาธิมาได้เกือบ 1 ปีแล้ว เพราะเป็นคนที่มีโรคประจำตัวคือ ภูมิแพ้ครับ ตลอดปีที่ออกกำลังกายไม่มีอาการภูมิแพ้อีกเลย ร่างกายของเราก็เปรียบเหมือน รถที่เราซื้อได้เพียงหนึ่งคันและใช้ไปตลอดชีวิตนี้ เราต้องดูแลให้ดีดังนั้นคะแนนในช่องสุขภาพ(Health) ผมให้เต็มที่เลย
ส่วนคะแนนในเรื่องของ Play นั้นผมได้ต่ำที่สุด ผมเลยพยายามมองหาว่า จะทำกิจกรรมอะไรดีที่ทำให้ผมเบิกบานใจ คุณ Bill Burnett บอกว่า "ให้เรานึกถึงตอนเราห้าขวบ ถ้านึกไม่ออกก็ลองไปเล่นกับเด็กดู" ผมเลยไปเล่นกับลูกครับ สนุกมาก วิ่งเล่นกัน ซ่อนแอบ ไล่จับ เด็กๆนี่จินตนาการการเล่นชนะผู้ใหญ่ทุกคนแน่นอน หลังจากนั้นผมคิดว่าผมชอบอ่านหนังสือ ก็ถือว่าโอเค ผมอยากจะเพิ่มคะแนนทางด้านนี้เลยตั้งใจว่าจะไปทดลองฝึกเล่นกีตาร์ใหม่ครับ เอาไว้จะมาอัพเดตให้ฟังครับ
โหเวลาเล่าถึงชีวิตตัวเอง ค่อนข้างยาวเลย!! ใครอ่านมาถึงจุดนี้ ก็ขอขอบคุณนะครับ ที่ได้รู้จักตัวผมมากขึ้น
ในวัน Workshop ก็มีไอดอลของผมหลายท่าน ที่ได้นำแนวคิด Designing Thinking ไปปรับใช้กับชีวิต
ท่านอาจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ท่านได้กล่าวว่า “ถ้าเรามองรอบตัวเราหลายอย่างๆแม้กระทั่งสิ่งที่เล็กที่สุด อย่าง น๊อตที่พื้นก็ยังมีการออกแบบเลย แล้วทำไมเราถึงปล่อยชีวิตให้ผ่านไปโดยไม่ออกแบบมันหล่ะ”
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ (CEO ศรีจันทร์ และเจ้าของเพจ Misson to the moon) ได้ฝากข้อคิดว่า “บทบาทหนึ่งในชีวิตที่ไม่มีใครสามารถทำแทนได้ คือ ความเป็นพ่อของลูกๆ และเป็นสามีของภรรยา และความเป็นลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ หน้าที่เหล่านี้คุณให้ใครทำแทนไม่ได้ ถึงได้แต่ก็ไม่ใช่คุณ”
คุณต้อง กวีวุฒิ (เจ้าของเพจ แปดบบรรทัดครึ่ง) ท่านได้ฝากแนวคิดว่า “ออกไปหาคนใหม่ๆ ไปคุยกับพวกเขาแล้วคุณจะได้เจอในสิ่งที่คุณอยากทำในที่สุด เน้นปริมาณก่อนในช่วงแรก อย่าเพิ่งมองผลลัพธ์”
คุณ เคน นครินทร์ (บรรณาธิการและผู้บริหาร The Standard) “ยิ่งทำให้ตัวเองยุ่งเท่าไร เราจะใช้เวลาได้คุ้มค่ามากขึ้น เวลาไหนเล่นต้องได้เล่น เวลาไหนทำงานต้องได้ทำ เมื่อคุณได้ทำงานที่มีความหมายในชีวิต เวลาทำงานก็จะกลายเป็นเวลาเล่นในที่สุด”
Design your life นั้นเป็นวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัย Stanford ที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากที่สุด และโชคดีเป็นอย่างยิ่งเนื่องจาก แนวคิดนี้ไม่จำกัดอายุ และไม่จำกัดความสามารถ ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ เอาหล่ะครับได้เวลาออกแบบชีวิตของตัวเองกันแล้วครับ ผมและทีมงานหนุนนำขอเป็นกำลังใจให้นะครับ
Comments