top of page
  • Writer's pictureNum | Sahathust

การบริหารความเครียดของคู่ชีวิต (สามี/ภรรยา) เพื่อพัฒนาความ สมดุลของชีวิต

มีหลายๆคู่ที่สามีหรือภรรยาทำงานนอกบ้านคนเดียว และอีกฝ่ายมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้าน บางคู่ก็ทำงานด้วยกันทั้งคู่ บ่อยครั้งที่เราจะเห็น ว่าคนที่ทำงานมักจะนำความเครียด จากงานกลับมาบ้านเพื่อมาลงกับคนที่บ้าน กับคู่ชีวิตหรือบางครั้งกับลูกน้อยเอง ปัญหาจากเรื่องเล็กๆก็นำพาไปสู่ปัญหาใหญ่ๆต่อมาได้ การที่อีกฝ่ายนั้นได้มีบทบาทในการเลี้ยงลูกหรือดูแลลูกอยู่กับบ้าน ก็ถือว่าเป็นงานที่สำคัญมาก และใช้พลังมากไม่ต่างจาก การไปทำงานที่ทำงานเลย ผู้ที่เป็นฝ่ายที่หาเงินมาจุนเจือก็ต้องเข้าใจ บทบาทของอีกฝ่ายด้วยใจ วันนี้เราเลยอยากจะนำวิธีการบริหารความเครียดของคู่ชีวิต ทั้งฝั่งสามีและภรรยา เพื่อนำพาความสุขและสร้างความสมดุลของชีวิต ช่วยกันดูแลกันและกันเพื่อนำพาครอบครัวของเราให้ ผ่านพ้นอุปสรรคหรือปัญหาต่างๆที่เข้ามาได้ เรามาเริ่มต้นกันเลย


วิธีการบริหารความเครียดของคู่ชีวิต | Noonnum.com
การบริหารความเครียดของคู่ชีวิต เพื่อสมดุลของชีวิตคู่ | Noonnum.com

อย่างแรกเลยนั้นคือ การรับฟัง การฟังนั้นแตกต่างจากการได้ยินเป็นอย่างมาก ในระหว่างที่คู่ของเรา นั้นได้ระบายความเครียดจากที่ทำงาน หรือ ปัญหาต่างๆที่เขาได้พบเจอมาให้เราฟัง เราจำเป็นต้องรับฟัง โดยพยายามหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำอยู่ ถ้าเป็นไปได้ หรือถ้าทำกิจกรรมอื่นค้างอยู่ อาจจะบอกเขาว่า เดี๋ยวขอทำอาหารให้เสร็จก่อน เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วยนะ และเมื่อถึงเวลาก็รับฟังเขา บางครั้งคนที่ระบายเขาแค่ต้องการคนที่จะฟังเขาเท่านั้นครับ

ในระหว่างที่คู่ของเราระบาย อย่าเพิ่งเข้าไปแทรกแซง หรือ ไปวิจารณ์ ว่าเขาในทางลบ หรือใส่ความเห็นของเราเข้าไป บางคนต้องการที่ระบายเท่านั้น คนเราระบายไม่นานหรอกครับถ้ามีคนที่ตั้งใจฟังเขาจริงๆ สิ่งที่ไม่ควรทำเลย คือ ห้ามเปรียบเทียบความเครียดของตัวเองกับ ปัญหาของอีกฝ่าย ยกตัวอย่าง เช่น คู่ของเรามาระบายปัญหาที่ทำงานให้เราฟัง เราก็บอกว่าปัญหาแค่นี้เองสู้ปัญหาของเราไม่ได้หรอก มันไม่ใช่การแข่งขันครับ อย่าเปรียบเทียบปัญหาของแต่ละฝ่ายเด็ดขาดครับ มันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย กลับทำให้สถานการณ์ดูแย่ลงด้วยซ้ำ



หลังจากที่เรารับฟังสิ่งที่คู่ของเราระบายออกมาหมดแล้วให้ เราใช้วิธีการ แบบแนะนำเบาๆ อาจจะดูตัวอย่างที่เราใช้แนะนำลูกน้องหรือคนที่ทำงานก็ได้ครับ อย่าพยายามใช้คำพูดแบบสุดโต่ง เราควรจะพูดให้กำลังใจในเชิงบวก หรือพูดมุมมองบวกให้เขาเห็น “วันนี้อาจจะเป็นวันที่แย่วันหนึ่งพรุ่งนี้อาจจะเป็นวันดีของคุณก็ได้” หรือ พูดถึงจุดดีของคู่เรา “ปกติคุณไม่ได้เป็นแบบนี้นะ คุณเก่งในเรื่องนี้การแก้ปัญหาอยู่แล้ว” ลำดับนี้ความสำคัญที่ต้องระวังคือ ต้องพูดแบบเบาทีสุด ห้ามซ้ำเติมหรือตอกย้ำขอด้อย ของเขา เช่น”ก็คุณชอบหนีปัญหาแบบนี้ไง คราวนี้ปัญหาก็เลยใหญ่ขึ้น”

ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะมีสองแบบ แบบแรก เป็นปัญหาที่ไม่ได้หนักมาก แบบนี้สามารถแก้ไขได้จากการ รับฟังกัน หรือ ให้คู่เราระบาย ก็พอ ถ้าให้ดี เราอาจจะวางแผนทำกิจกรรมพิเศษเวลาที่ใครสักคนเจอวันที่แย่ ยกตัวอย่างนัดไปกินไอติมกัน หรือ ไปเดินเล่นข้างนอกในสวนโดยไม่พกโทรศัพท์ ไปฟังเพลง ไปหาหนังสือดีๆอ่านกัน ไปดูหนัง ตลุยดูซีรีย์(แบบนี้อาจจะเครียดหนักกว่าเดิม) ก็ทำได้ครับ ปัญหาแบบนี้มักจะผ่านไปได้ง่ายครับ



แต่ถ้าคู่ของเรา เจอปัญหาแบบสะสม คือ เกิดความเครียดบ่อยๆและไม่มีทางออก สะสมปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไข ความเครียดแบบนี้ ตัวเราต้องหมั่นสังเกต พฤติกรรม การกระทำ จิตใจ ถ้าคู่ของเรามีปัญหาแบบนี้พฤติกรรมหรือคำพูดบางอย่างของเขา มักจะเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น อยู่ๆก็เงียบขึ้น ไม่พูด ชอบเหม่อลอย ไม่ค่อยได้โฟกัส หรือถามแล้วก็ไม่ค่อยตอบ โมโหง่าย ฉุนเฉียว เก็บอารมณ์ไม่อยู่ อาการแบบนี้ต้องหมั่นคอยสังเกต เพราะถ้าเกิดปัญหาแบบเรื้อรังขึ้น อาจจะส่งผลไปถึง ภาวะการซึมเศร้าถ้าปล่อยเอาไว้นานเกินไปได้



กรณีนี้ การรับฟังและการระบาย อาจจะไม่ได้เป็นทางออกที่จะช่วยได้มาก ควรหาที่ปรึกษาหรือมืออาชีพทางด้านนี้ เข้ามาช่วย เขาอาจจะต้องใช้กิจกรรมหลายๆอย่างในการช่วยเหลือ โดยตัวเราซึ่งเป็นคู่ชีวิต ต้องมีสติ รู้ตัว ไม่ซ้ำเติม ใจต้องนิ่ง พยายามค่อยๆหาทางออก บางคนถ้าปล่อยไว้นานเกินไป อาจจะต้องใช้ยาหรือการรักษาช่วย แต่ปัจจุบันการปรึกษากับผู้เชียวชาญทางด้านจิตใจ ถือเป็นเรื่องปกตินะครับ



บางครั้งการแก้ปัญหาความเครียดสะสม หรือภาวะซึมเศร้า คงพึ่งยาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่เข้าไปในจิตใจ อาจจะไปกระทบกับบาดแผลในจิตใจจากวัยเด็ก และส่งผลให้ปฏิกิริยาบางอย่างภายในร่างกายไม่ตอบสนอง ตามปกติ คุณอาจจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายทรุดโทรม โลกนี้มืดมน ไปหาหมอทั่วไป ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ หาสาเหตุไม่เจอ เป็นปัญหาจากสภาวะข้างใน สิ่งที่ดีที่สุดคือ พยายามชวนคู่ของเรา ให้ทำกิจกรรมที่เขาชอบ ยกตัวอย่างเช่น วาดภาพ ทำศิลปะ หาสิ่งที่ชอบทำ การจัดดอกไม้ การเขียนไดอารี่หรือนิยาย การเย็บปักถักร้อย การร้องเพลง เราพยายามหาที่ที่เราเรียกว่า Third Place ของคู่เราครับ การออกกำลังกาย ไปวิ่ง ไปเดิน เล่นโยคะ ทำชี่กง และการทำสมาธิ ก็ช่วยสภาวะนี้ได้มากๆครับ และช่วยให้เราและคู่เรานอนหลับได้ดีขึ้นมากๆด้วย ปัญหาเกิดได้ทุกวัน การมองโลกในแง่ดีต้องฝึก บางคนก็ทำไม่ได้ สิ่งที่น่าจะทำได้เลยคือหาสาเหตุของปัญหาให้เจอ อาจจะเป็นเรื่องงานถ้ามันไม่ใช่ ก็ควรมองหางานที่เราทำและมีความสุขครับ (เรื่องนี้วันหลังจะมาชวนคุย เรื่องการหางาน หรือทำงานที่เรารัก)



การเป็นคู่กันนั้น ไม่ใช่เราจะคุยกันในเรื่องความสุขกันอย่างเดียว คู่ที่เรียกว่า คู่ชีวิตนั้น เราจำเป็นต้องคุยกันในเรื่องของความทุกข์และความไม่สบายใจกันด้วย บางครั้งเราสามารถที่จะอ่อนแอได้ ยอมรับมุมที่อ่อนแอของเขา

ช่วยประคองเขาในวันที่เขาต้องการเราที่สุด อยู่ข้างๆ ดึงเขาขึ้นมาจากจุดที่ต่ำที่สุด อย่างนี้แหละครับ ถึงจะเรียกว่าคู่ชีวิตที่แท้จริง ขอบคุณที่ตามอ่านบทความนี้ครับ ใครมีประสบการณ์สามารถแชร์กันได้นะครับ


Credit ข้อมูลบางอย่างจาก เพจ Mission to the moon

277 views0 comments
bottom of page